อนาคตรถ EV จุดพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย
|
ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยมีพัฒนาการดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้า (BEV หรือรถไฟฟ้าแบตเตอรี่) ที่จดทะเบียนใหม่ในช่วง ม.ค. - ก.ย. 2566 เฉลี่ยเดือนละ 7,399 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เกือบ 3 เท่าตัว และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องทุกปี
ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายในประเทศ และคาดว่าอุตสาหกรรมการผลิต EV จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 - 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม ทั้งในแง่ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, โลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งรถยนต์, ตัวแทนจำหน่าย EV Car, อุปกรณ์และสถานีชาร์จแบตเตอรี่ รวมถึงภาคการเงินที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อและการประกันภัยรถยนต์ หลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าพิจารณาในฝั่งของภาคการผลิตและจัดจำหน่าย ก่อนที่จะไปถึงมือผู้ซื้อ จะมีอย่างน้อย 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ
|
- นิคมอุตสาหกรรม โอกาสการขายที่ดินและระบบสาณารณูปโภคเพิ่มขึ้น จากการเป็นฐานการผลิต EV Car ของภูมิภาคอาเซียน
- ชิ้นส่วนยานยนต์ โอกาสเติบโตตามยอดจำหน่ายของ EV Car จากมาตรการของภาครัฐที่สนับสนุนผลิตรถยนต์ และใช้ชิ้นส่วนยานยนต์จากผู้ผลิตในประเทศไทย
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้ประโยชน์จากอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีมากกว่ารถยนต์สันดาป
- ระบบขนส่ง ไทยเป็นฐานการผลิตและต้องจัดส่งทั้งชิ้นส่วนต่างๆ ไปยังตัวแทนจำหน่ายในและต่างประเทศ
- สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ ไฟแนนซ์ และประกันภัย ที่จะได้ประโยชน์ตามยอดจำหน่าย EV Car ที่เพิ่มมากขึ้น
- ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ธุรกิจการติดตั้งระบบชาร์จไฟตามบ้านเรือนและสถานีบริการเติบโตมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต
- ผู้ผลิตแบตเตอรี่และอุปกรณ์ แบตเตอรี่มีส่วนสำคัญต่อยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ของประเทศไทย
|
การเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปเป็น EV Car จะเป็นทั้งโอกาส และอาจเป็นการหยุดชะงักต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ขึ้นอยู่กับความเร็วในการปรับตัวของผู้ผลิตรถยนต์แต่ละราย โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เนื่องจากเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องอาศัยชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อน และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงกว่าชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปที่ผลิตอยู่ในปัจจุบัน
|